เกรท วอลล์ มอเตอร์ เผยกรณีศึกษาความสำเร็จรถยนต์ไฟฟ้าของจีน สนับสนุนประเทศไทย xEV Ecosystem อย่างยั่งยืน
จีนนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในตลาดรถไฟฟ้า ทั้งในประเทศจีนเองและทั่วโลก ซึ่ง Xu Haidong รองหัวหน้าวิศวกรของ China Association of Automobile Manufacturers หรือ CAAM ระบุว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนแตะ 1.3 ล้านคันในปี 2020 เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบปีต่อปี
เดิมที จีนเคยประสบปัญหามลภาวะจากภาคอุตสาหกรรมและการปล่อยมลพิษจากรถยนต์บนท้องถนน อันเนื่องมาจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดดของจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง ทำให้หลายเมืองใหญ่ของจีนมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก จีนจึงเริ่มควบคุมคุณภาพอากาศอย่างจริงจังและใช้เทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมเพื่อรับมือวิกฤตฝุ่นแบบครบทุกมิติ โดยเฉพาะการโฟกัสที่ต้นเหตุของปัญหา คือลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากรถยนต์ด้วยการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต่อมาจีนได้รับการยอมรับว่าเป็น Best Practice ในด้านนี้ในอีกหลายประเทศทั่วโลก
พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส คืนอากาศสะอาดด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
นอกจากการออกมาตรการกำกับดูแลที่เคร่งครัด ตลอดจนสร้างสิทธิประโยชน์จูงใจในเชิงเศรษฐกิจและเข้มงวดกับการสร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมแล้วจีนยังมีการพัฒนา “รถยนต์พลังงานทางเลือก (New Energy Vehicle : NEV)” เป็นนโยบายสำคัญที่จะนำมาช่วยการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงสร้างบุคลากรด้านรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจีนมุ่งหวังให้เทคโนโลยีการผลิตและรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หลักในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ
โมเดลความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะด้วย 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า 2. นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐและภาคเอกชนให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และ 3. การผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเพื่อสร้าง Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้น ส่งผลให้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จีนกลายเป็นประเทศผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
กรณีศึกษาถึงความสำเร็จที่น่าสนใจ
ตัวอย่างความสำเร็จของการสร้าง Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าในจีน คือการสนับสนุนเงินทุนพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในหลายโครงการ ทั้งโครงการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า และโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้รถยนต์ไฟฟ้า จากปี พ.ศ.2555 ถึงปัจจุบัน จีนอุดหนุนเงินทุนในโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าไปหลายพันล้านหยวน ส่งผลให้จีนแซงหน้าประเทศเกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น และสามารถขึ้นครองแชมป์ในการเป็นผู้ผลิตและขายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2561 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ครองอันดับ 1 ตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนด้วยยอดขาย 61% ของยอดขายทั่วโลก นอกจากนี้ ในบรรดาทำเนียบบริษัทที่ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนระดับโลก 12 อันดับแรก เป็นบริษัทสัญชาติจีนมากถึงถึง 7 บริษัท ซึ่งการสร้าง Ecosystem ดังกล่าว ผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในจีน โดยในปี พ.ศ.2562 จีนมีการจำหน่ายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าถึง 1.2 ล้านคัน นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก
จีนยังคงมีการดำเนินนโยบายการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของจีนอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาและสร้างแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ควบคู่ไปกับการรองรับการขยายตัวของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ทั้งการสร้างและเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะระหว่างเมืองใหญ่ รวมถึงการตั้งเป้าสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) อีกกว่า 12,000 สถานี และกระจายจุดชาร์จ (Charging Pile) อีกกว่า 4.8 ล้านแห่ง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่บุคคลทั่วไปหรือหน่วยงาน อาทิ การออกมาตรการอุดหนุนทางการเงิน ให้สิทธิพิเศษในการขอป้ายทะเบียน การยกเว้นภาษีการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ถอดบทเรียนความสำเร็จสู่การสร้าง EV Ecosystem ในไทย
ด้าน ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า “จากกรณีศึกษาความสำเร็จของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในจีน สามารถถอดแนวคิดและกลยุทธ์ที่จีนนำมาใช้ โดยมีทั้งนโยบายการผลักดันเชิงรุก (Push Strategy) เช่น การกำหนดวันคู่ วันคี่ สำหรับรถยนต์ที่วิ่งในเมือง การตรวจสอบการปล่อยไอเสีย และนโยบายที่ดึงดูดคนให้มาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น (Pull Strategy) เช่น การลดหย่อนภาษี การให้สิทธิพิเศษกับผู้ที่ใช้รถไฟฟ้า เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้สามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย รวมถึงการบูรณาการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เติบโต และช่วยผลักดันผ่านนโยบายรัฐ อย่างเช่น การทำแผนส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า การจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้าโดยภาครัฐ การเพิ่มจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายให้มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายในอาคาร สำนักงาน และคอนโดมิเนียม เป็นต้น ส่วนภาคเอกชน อาจจะมีการกระตุ้นความต้องการของตลาดด้วยการผลิตและการสนับสนุนการใช้งานที่สร้างความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ การอำนวยความสะดวกให้ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าสามารถค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้โดยสะดวกผ่านป้ายหรือการใช้แอปพลิเคชัน รวมถึงการสื่อสารและให้ความรู้แก่สาธารณชนให้ทราบถึงนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และการช่วยลดปริมาณ PM2.5 ได้อย่างมีนัยสำคัญ”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันภาครัฐของไทย เริ่มมีนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะ “บริษัทที่ให้บริการการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีระดับโลก” (Global Mobility Technology Company) พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายและร่วมส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยนำเสนอแนวคิด EV Ecosystem ที่สามารถใช้ต้นทุนทรัพยากรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่งของไทย ทั้งศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตลอดจนความสามารถของบุคลากร มาช่วยผลักดันและขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเศรษฐกิจไทยให้ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ที่มาของข้อมูล